วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2555

วันออกพรรษา

วันออกพรรษา 2555 ประวัติวันออกพรรษา

 
วันออกพรรษา 2555 ประวัติวันออกพรรษา วันออกพรรษามีความสำคัญอย่างไร

วันออกพรรษา


 
วันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11
 
        วันออกพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 เป็นสำคัญวันหนึ่งของพระภิกษุสงฆ์ คือ เป็นวันสิ้นสุดการจำพรรษา หรือออกจากพรรษาที่ได้อธิษฐานเข้าจำพรรษาตลอดระยะเวลา 3 เดือน ในวันออกพรรษาในพระไตรปิฎกกล่าวไว้ว่า เป็นวันที่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์มายังโลกมนุษย์ หลังจากที่พระองค์ได้เสด็จไปจำพรรษา และแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเทพบุตรพุทธมารดา ซึ่งอยู่สวรรค์ชั้นดุสิต แต่ลงมาฟังพระธรรมเทศนาที่ชั้นดาวดึงส์
     
     วันออกพรรษา หมายถึงวันที่พ้นจากข้อกำหนดทางพระวินัยที่ต้องอยู่ประจำที่หรือในวัดแห่งเดียวตลอด 3 เดือน  ในฤดูฝน กล่าวคือ เมื่อพระภิกษุได้อธิษฐานอยู่จำพรรษาในวันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 แล้วอยู่ประจำที่หรือวัดนั้นเรื่อยไป จนสิ้นสุดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากวันออกพรรษาแล้วก็สามารถจาริกไปค้างแรมที่อื่นได้
 
     วันออกพรรษา เรียกว่าอย่างหนึ่งว่า “วันปวารณา” หรือ “วันมหาปวารณา” คือวันที่พระสงฆ์ทำปวารณากรรม คือเปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนกันด้วยเมตตาจิตได้ เมื่อได้เห็นได้ทั้งหรือสงสัยในพฤติกรรมของกันและกัน
 
วันออกพรรษา วันพระพุทธเจ้าเปิดโลก 
 
วันออกพรรษา พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จลงจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
หลังจากทรงแสดงพระธรรมเทศนาโปรดเทพบุตรพุทธมารดา
 

ความสำคัญของวันออกพรรษา

 
วันออกพรรษา เป็นวันสำคัญของพุทธศาสนา ด้วยเหตุผลดังนี้
 
      1. หลังจากวันออกพรรษาพระสงฆ์ได้รับพระบรมพุทธานุญาตให้จาริกไปค้างแรมที่อื่นได้
 
      2. เมื่อออกพรรษาแล้วพระสงฆ์จะได้นำความรู้จากหลักธรรมและประสบการณ์ที่ได้รับระหว่างพรรษาไปเผยแผ่แก่ประชาชน
 
      3. ในวันออกพรรษาพระสงฆ์ได้ทำปวารณา เปิดโอกาสให้เพื่อนพระภิกษุว่ากล่าวตักเตือนเรื่องความประพฤติของตนเพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์ ความเคารพนับถือและความสามัคคีกัน
 
      4. พุทธศาสนิกชนได้นำแบบอย่างไปทำปวารณาเปิดโอกาสให้ผู้อื่นว่ากล่าว ตักเตือนตนเองเพื่อประโยชน์ต่อการพัฒนาตนและสร้างสรรค์สังคมต่อไป
 

ประวัติความเป็นมาของวันออกพรรษา


     เมื่อพระพุทธเจ้าทรงประทับจำพรรษาอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร กรุงสาวัตถี มีพระภิกษุเหล่านั้นเกรงจะเกิดการขัดแย้งกันจนอยู่ไม่สุขตลอดพรรษา จึงได้ตั้งกติกาว่าจะไม่พูดจากัน (มูควัตร)  เมื่อถึงวันออกพรรษาพระภิกษุเหล่านั้นก็พากันไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าที่พระเชตวันมหาวิหาร กราบทูลเรื่องทั้งหมดให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าทรงตำหนิ แล้วทรงมีพระบรมพุทธานุญาตให้พระภิกษุกระทำการปวารณาต่อกันว่า
 
     “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายผู้จำพรรษาแล้วปวารณากันในสามลักษณะ คือด้วยการเห็นก็ดี ด้วยการได้ยินก็ดี ด้วยการสงสัยก็ดี”
 

การถือปฏิบัติวันออกพรรษาในประเทศไทย

    
     วันออกพรรษา เป็นวันปวารณาของพระสงฆ์โดยตรง ที่จะต้องประชุมกันทำปวารณากรรมแทนอุโบสถกรรม สำหรับพุทธศาสนิกชนฝ่ายคฤหัสถ์ ก็ถือว่าเป็นวันพระสำคัญ มักนิยมไปทำทานรักษาศีลและฟังธรรมเป็นกรณีพิเศษ
 
     นอกจากนี้ ยังมีประเพณีเนื่องด้วยวันออกพรรษาอีกอย่างหนึ่งเรียกว่า “ประเพณีตักบาตรเทโว”
 

วันปิยมหาราช

พระมหากรุณาธิคุณอันยิ่งใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 คือ การประกาศเลิกทาส ทำให้ปวงชนชาวไทยได้เป็นไทมาจวบจนทุกวันนี้

          ในรัชสมัยของพระองค์ สยามประเทศได้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สร้างความวัฒนาให้กับชาติเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น การไฟฟ้า การไปรษณีย์ โทรเลข โทรศัพท์ ฯลฯ ด้วยพระราชกรณียกิจที่ยังความผาสุกให้เกิดแก่ประชาชน ทวยราษฎร์ทั้งปวงจึงน้อมใจแสดงความจงรักภักดี ด้วยการถวายพระนามว่า "พระปิยมหาราช" หรือพระพุทธเจ้าหลวง และกำหนดให้ทุกวันที่ 23 ตุลาคม เป็น วันปิยมหาราช
 ความเป็นมาของ วันปิยมหาราช

รัชกาลที่ 5

          เมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 ได้เกิดเหตุการณ์ที่สร้างความเศร้าโศกให้กับประเทศไทยครั้งใหญ่หลวง เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ทรงประชวรเสด็จสวรรคต ณ พระที่นั่งอัมพรสถานพระราชวังดุสิต เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเป็นกษัตริย์ที่เป็นที่เคารพรักของทวยราษฎร์ ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณอเนกประการ ทั้งในการปกครองบ้านเมือง และพระราชทานความร่มเย็นเป็นสุขแก่ชนทุกหมู่เหล่า

          ต่อมาในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6 ทางราชการได้ประกาศให้วันที่ 23 ตุลาคม ซึ่งเป็นวันสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติเรียกว่า "วันปิยมหาราช" และกำหนดให้เป็นวันหยุดราชการ

          เจ้าหน้าที่กระทรวงมหาดไทยซึ่งต่อมาเป็น "กรุงเทพมหานคร" ร่วมด้วยกระทรวงวัง ซึ่งต่อมาเป็น "สำนักพระราชวัง" ได้จัดตกแต่งพระบรมราชานุสาวรีย์ ตั้งราชวัติฉัตร 5 ชั้น ประดับโคมไฟ ทอดเครื่องราชสักการะที่หน้าพระบรมราชานุสาวรีย์ตั้งแต่นั้นมาจนถึงปัจจุบัน

          พระราชพิธีทรงบำเพ็ญพระราชกุศล วันปิยมหาราช ครั้งแรกเกิดขึ้นถัดจากปีที่ได้ถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบำเพ็ญพระราชกุศลทักษิณานุปทานถวายแล้วเสด็จฯ ไปถวายพวงมาลา ทรงจุดธูปเทียนเครื่องราชสักการะที่พระบรมราชานุสาวรีย์

 พระราชประวัติ

รัชกาลที่ 5

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระนามเดิมว่า สมเด็จเจ้าฟ้าจุฬาลงกรณ์ พระราชสมภพเมื่อวันที่ 20 กันยายน พ.ศ.2396 เป็นพระราชโอรสองค์ที่ 4 ในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระนางเจ้าฟ้ารำเพยภมราภิรมย์ (สมเด็จพระเทพศิรินทรา พระบรมราชินี) เมื่อพระชนมายุได้ 9 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น "กรมหมื่นพิฆเนศวรสุรลังกาศ" ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 13 พรรษา ทรงได้รับสถาปนาขึ้นเป็น "กรมขุนพินิตประชานาถ" บรมราชาภิเษกครั้งแรกเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2411 ทรงพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาจุฬาลงกรณ์ พระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว"
          เนื่องจากขณะนั้นมีพระชันษาเพียง 16 ปี ยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะ สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค) จึงเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน และสถาปนากรมหมื่นบวรวิชัยชาญ พระโอรสองค์ใหญ่ของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นกรมพระราชวังบวรวิชัยชาญพระมหาอุปราช

          ระหว่างที่สมเด็จพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่นั้น สมเด็จพระจุลจอมเกล้าฯ ก็ทรงใช้เวลาศึกษาเล่าเรียนศิลปวิทยาเป็นอันมาก เช่น โบราณราชประเพณี รัฐประศาสน์ โบราณคดี ภาษาบาลี ภาษาอังกฤษ วิชาปืนไฟ วิชามวยปล้ำ วิชากระบี่กระบอง และวิชาวิศวกรรม

          ในตอนนี้ยังได้เสด็จประพาสสิงคโปร์และชวา 2 ครั้ง เสด็จประพาสอินเดีย 1 ครั้ง การเสด็จประพาสนี้มิใช่เพื่อสำราญพระราชหฤทัย แต่เพื่อทอดพระเนตรแบบแผนการปกครองที่ชาวยุโรปนำมาใช้ปกครองเมืองขึ้นของตน เพื่อจะได้นำมาแก้ไขการปกครองของไทยให้เหมาะสมแก่สมัยยิ่งขึ้น ตลอดจนการแต่งตัว การตัดผม การเข้าเฝ้าในพระราชฐานก็ใช้ยืน และนั่งตามโอกาสสมควร ไม่จำเป็นต้องหมอบคลานเหมือนแต่ก่อน

          เมื่อพระชนมายุบรรลุพระราชนิติภาวะ ได้ทรงผนวชเป็นเวลา 2 สัปดาห์ แล้วจึงประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษกเป็นครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2416 และนับจากนั้นมาก็ทรงพระราชอำนาจเด็ดขาดในการบริหารราชการแผ่นดิน
          ตลอดระยะเวลาที่ทรงครองสิริราชสมบัติ ทรงปกครองทำนุบำรุงพระราชอาณาจักรให้มั่งคั่งสมบูรณ์ ดัวยรัฐสมบัติ พิทักษ์พสกนิกรให้อยู่เย็นเป็นสุข บำบัดภัยอันตรายทั้งภายในภายนอกประเทศ ทรงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจต่างๆ อันก่อให้เกิดคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ ให้รอดพ้นจากวิกฤตการณ์ และสามารถธำรงเอกราชไว้ตราบจนทุกวันนี้

          พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสวรรคตเมื่อวันที่ 23 ตุลาคม พ.ศ.2453 รวมพระชนมายุได้ 58 พรรษา ครองราชสมบัติมานานถึง 42 ปี

 พระราชกรณียกิจ

พระราชกรณียกิจที่สำคัญในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว อาทิเช่น

 1.การเลิกทาส

เลิกทาส

          เป็นพระราชกรณียกิจอันสำคัญยิ่ง ที่ทำให้พระองค์ทรงได้รับพระสมัญญาว่า "สมเด็จพระปิยมหาราช"
ด้วยพระองค์ทรงเห็นว่า มีทาสในแผ่นดินเป็นจำนวนมาก และลูกทาสในเรือนเบี้ยจะสืบต่อการเป็นทาสไปจนรุ่นลูกรุ่นหลานอย่างไม่มีที่สิ้นสุด ถ้าไม่มีเงินมาไถ่ตัวเองแล้ว ต้องเป็นทาสไปตลอดชีวิต พระองค์จึงทรงมีพระทัยแน่วแน่ว่า จะต้องเลิกทาสให้สำเร็จ แม้จะเป็นเรื่องยากลำบาก เพราะทาสมีมาตั้งแต่สมัยโบราณ อีกทั้งเจ้านายที่เป็นใหญ่ในสมัยนั้นมักมีข้ารับใช้ เมื่อไม่มีทาส บุคคลเหล่านี้อาจจะไม่พอใจและก่อให้เกิดความวุ่นวายขึ้นเหมือนกับที่เกิดขึ้นในต่างประเทศมาแล้ว

กินเจ

เทศกาลกินเจ ถือเป็นอีกหนึ่งวัฒนธรรมอันเก่าแก่ของชาวจีนที่มีการปฏิบัติสืบทอดกันมาตั้งแต่สมัยบรรพกาล  ซึ่งเทศกาลกินเจนั้น จะเริ่มขึ้นเมื่อถึงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 (ตามปฏิทินจีน) ของทุกปี โดยเมื่อถึงวันดังกล่าวประชาชนจะนำธงพื้นสีเหลืองซึ่งมีตัวอักษรจีนสีแดงโดดเด่นมาประดับตามร้านอาหาร หรือสถานที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นสัญลักษณ์ว่า ได้เข้าร่วมเทศกาลกินเจนี้ และสำหรับเทศกาลกินเจ ปี 2555 จะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 15  -23 ตุลาคม 2555 ซึ่งบางคนอาจกินเจล่วงหน้า 1 วัน หรือที่เรียกว่า "ล้างท้อง" นั่นเอง
 
          สำหรับใครที่ไม่เคยกินเจมาก่อน แล้วอยากทราบประวัติความเป็นมาของเทศกาลกินเจ รวมถึงต้องการเรียนรู้การกินเจอย่างถูกวิธี เพื่อให้ได้ผลดีต่อสุขภาพกาย สุขภาพใจ อย่างแท้จริงนั้น วันนี้ทีมงานกระปุกดอทคอม ได้รวบรวมเรื่องราวเกี่ยวกับเทศกาลกินเจมาฝากแล้วค่ะ
 
ความหมายของเจ
          คำว่า "เจ" ในภาษาจีนทางพุทธศาสนาฝ่ายมหายานมีความหมายว่า "อุโบสถ" เดิมหมายความว่า "การรับประทานอาหารก่อนเที่ยงวัน" ตามแบบอย่างของชาวพุทธที่รักษาอุโบสถศีล หรือรักษาศีล 8 ที่จะไม่รับประทานอาหารหลังเที่ยงวันไปแล้ว แต่สำหรับพุทธนิกายมหายานนั้น การรักษาอุโบสถศีลจะรวมถึงการไม่รับประทานเนื้อสัตว์ด้วย เราจึงนิยมเรียกการไม่ทานเนื้อสัตว์รวมไปกับการกินเจ ในปัจจุบันผู้ที่รับประทานอาหารทั้ง 3 มื้อ แต่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็ยังคงเรียกว่า "กินเจ" ดังนั้นความหมายของคนกินเจ ไม่เพียงแต่ไม่ทานเนื้อสัตว์ แต่ยังต้องดำรงตนอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม มีความบริสุทธิ์ สะอาด ทั้งกาย วาจา ใจ

          "การกินเจ" ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2525 หมายถึง การถือศีลอย่างญวนและจีนที่ไม่กินของสดคาว แต่บริโภคอาหารประเภทผักที่ไม่มีของสดของคาวผสม ซึ่งมาจากรากศัพท์คำภาษาจีนที่ว่า "เจียฉ่าย" หมายถึง การกินอาหารผัก อาหารที่มาจากพืชผักธรรมชาติ ไม่มีเนื้อสัตว์ปะปน และไม่ปรุงด้วยผักฉุน 5 ชนิด ได้แก่ กระเทียม หัวหอม หลักเกียว กุยช่าย ใบยาสูบ และงดเว้นน้ำนมสด นมข้นด้วย เพราะถือว่าเป็นของสดของคาว

ช่วงเวลากินเจ


          ประเพณีกินเจที่ชาวจีนเรียกกันว่า "เก้าอ๊วงเจ" หรือ "กิ้วอ๊วงเจ" แปลว่า "เจเดือน 9" เริ่มต้นในวันขึ้น 1 ค่ำ ถึง 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีน รวม 9 วัน 9 คืน ตรงกับเดือน 11 หรือเดือนตุลาคมของไทย (ตามปฏิทินสากล) สำหรับในปี พ.ศ. 2555 นี้ เริ่มวันที่ 15 - 23 ตุลาคม

          คำว่า "เก้าอ๊วง" หรือ "กิ้วอ๊วง" แปลว่า "พระราชา 9 องค์" หรือนพราชา หมายถึงผู้เป็นใหญ่ทั้ง 9 ซึ่งเป็นที่มาของประเพณีกินผักกินเจ

ความหมายของ "ธงเจ"


          ในช่วงเทศกาลกินเจ เราจะสังเกตเห็นธงประจำเทศกาล โดยมีพื้นธงเป็นสีเหลืองซึ่งเป็นสีที่อนุญาตให้ใช้กับคนสองกลุ่มเท่านั้น คือกลุ่มกษัตริย์ ราชวงศ์ และกลุ่มอาจารย์ปราบผี ดังจะเห็นจากยันต์สีเหลืองตามภาพยนตร์จีน ดังนั้นสีเหลืองจึงเป็นสีของพุทธศาสนา หรือผู้ทรงศีล บนธงจะเขียนตัวอักษรสีแดง อ่านว่า "ไจ" หรือ "เจ" มีความหมายว่า "ของไม่มีคาว" เหตุที่ใช้สีแดง เพราะชาวจีนเชื่อว่า เป็นสีมงคล สร้างความเจริญให้แก่ชีวิต

          ธงเจนอกจากจะเป็นสัญลักษณ์ของอาหารเจแล้ว ยังเป็นการเตือนให้พุทธศาสนิกชนที่ปฏิบัติตนถือศีลกินเจได้ตระหนักถึงการไม่ เบียดเบียนชีวิตสัตว์ และการตั้งอยู่ในศีลตลอดช่วงระยะเวลา 9 วัน 9 คืน

กินเจเพื่ออะไร


          จุดประสงค์หลักของการกินเจ แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทคือ 

           1. กินเพื่อสุขภาพ เพราะอาหารเจเป็นอาหารชีวจิต เมื่อกินติดต่อกัน จะทำให้ร่างกายสมดุล สามารถขับพิษของเสียต่าง ๆ ออกจากร่างกายได้ และปรับระบบต่าง ๆ ในร่างกายให้มีเสถียรภาพ

           2. กินด้วยจิตเมตตา เนื่องจากทุก ๆ วัน อาหารที่เรากินประกอบด้วยเลือดเนื้อของสรรพสัตว์ ผู้ที่มีจิตใจดีงามจึงไม่สามารถกินเนื้อของสัตว์เหล่านั้นได้ 

           3. กินเพื่อเว้นกรรม เพราะการฆ่าเอาเลือดเนื้อผู้อื่นมาเป็นของเราเป็นการสร้างกรรม แม้จะไม่ได้ลงมือฆ่าเองก็ตาม เพราะการซื้อผู้อื่นเท่ากับการจ้างฆ่า ถ้าไม่มีคนกินก็ไม่มีคนฆ่ามาขาย ผู้ที่เข้าใจเรื่องกฎแห่งกรรมจึงหยุดกิน หันมารับประทานอาหารเจแทน โดยไม่เห็นแก่ความอร่อยในช่วงเวลาสั้น ๆ เพียงแค่ให้อาหารผ่านลิ้นเท่านั้น